เครือข่ายแพทย์หนุนMOU เรื่องกัญชาเป็นยาเสพติด
เครือข่ายแพทย์ฯ ต้านยาเสพติด ทำจดหมายเปิดผนึกถึง 8 พรรคร่วม หนุน MOU นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด
เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชน ต้านภัยยาเสพติด ทำจดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 8 ถึง พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค เรื่อง ข้อเท็จจริงและแนวคิดการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมีเนื้อหา ระบุว่า สืบเนื่องจากการแถลง MOU ของ 8 ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล โดยในข้อที่ 16 กำหนดให้ "นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดให้โทษผ่านการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา" ซึ่งต่อมามีข่าวการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อนโยบายการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดนี้ ของกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ทางเครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชน ต้านภัยยาเสพติด ขอเสนอข้อเท็จจริงและแนวคิดการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อสนับสนุนการดาเนินการตาม MOU ข้อที่ 16 มาดังนี้ 1. "ตัวกัญชา ไม่เท่ากับ นโยบายกัญชา" กัญชามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ควรนำมาใช้อย่างถูกต้องด้วยนโยบายกัญชาทางการแพทย์ที่เหมาะสม และ "นโยบายกัญชาเสรี ไม่เท่ากับ นโยบายกัญชาทางการแพทย์" ประเทศไทยควรใช้นโยบายกัญชาทางการแพทย์ ไม่ใช่นโยบายกัญชาเสรี 2. นโยบายการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลที่แล้ว โดยไม่รอให้มีกฎหมายกัญชาออกมาบังคับใช้ก่อน เป็น "ความผิดพลาดทางนโยบายอย่างร้ายแรง" เพราะทำให้เกิดกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศ ดังนั้นการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดในระหว่างรอการทำกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชาจึงเป็นแนวนโยบายที่ถูกต้องอย่างยิ่ง กัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ เปรียบเสมือนทะเล ที่มีประโยชน์ คือ ทำให้เด็กสามารถเล่นน้ำได้อย่างสนุกสนาน แต่ก็มีโทษ คือ ทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตได้ กฎหมายกัญชาที่เหมาะสมเปรียบเสมือนห่วงยางที่จะช่วยให้เด็กเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย การปลดกัญชาเสรีด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุขโดยไม่รอกฎหมายกัญชา เปรียบเสมือนการโยนเด็กลงไปในทะเลโดยยังไม่มีห่วงยางให้ใช้ เป็นอันตรายอย่างยิ่ง การนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดดังเดิม ในขณะที่กำลังดำเนินการทำกฎหมายกัญชาที่เหมาะสม คือ การนำเด็กขึ้นจากน้ำทะเลทันทีในขณะที่กำลังทำห่วงยางที่ดีให้เสร็จ แล้วจึงค่อยให้เด็กลงไปในทะเลอีกครั้งพร้อมห่วงยางที่ดี นโยบาย MOU ข้อที่ 16 จึงเป็นการช่วยชีวิตเด็กพร้อมทำห่วงยางให้ดีไปพร้อมกัน ไม่ได้เป็นการปิดกั้นการใช้ประโยชน์จากกัญชาอย่างที่ถูกกล่าวหาแต่ประการใด 3. การกล่าวอ้างว่านโยบาย MOU ข้อที่ 16 นี้ จะทาให้ผู้ประกอบการกัญชาเสียหายมาก และข่มขู่ว่าจะมีม็อบกัญชามาขัดขวาง มีข้อโต้แย้งต่อการกล่าวอ้างนี้อยู่ 3 ประการ คือ 1) การคงอยู่ของนโยบายกัญชาเสรีก็ทำให้เด็ก เยาวชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และผู้นำศาสนา เสียหายเช่นกัน และมีจานวนมากกว่ากันหลายเท่าตัว การปล่อยนโยบายกัญชาเสรีไว้ก็จะถูกต่อต้านเช่นกัน โดยมีตัวเลขที่สะท้อนว่ามีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายกัญชาเสรีมากกว่าผู้ที่เห็นด้วยหลายเท่าตัว ดังนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมที่คัดค้านนโยบายกัญชาเสรีอย่างชัดเจนจำนวน 4 พรรค ได้รับเสียงเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อรวมกันสูงถึง 26.7 ล้านเสียง ขณะที่พรรคที่ผลักดันนโยบายกัญชาเสรีได้รับเสียงเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเพียง 1.1 ล้านเสียง ห่างกันถึง กว่า 24 เท่าตัว โดยคะแนนเสียงในลักษณะนี้มีความเห็นต่อนโยบายกัญชาเสรีรวมอยู่ด้วยในระดับหนึ่ง 2)ผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องรับผิดชอบกับความเสี่ยงในการทาธุรกิจของตนเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งด้านกำไรและขาดทุน 3)หากจะกล่าวว่าผู้ประกอบการธุรกิจกัญชาเหล่านี้ทำไปเพราะนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขก็มีส่วนที่ควรจะได้รับความเห็นใจ จึงอาจใช้แนวคิดของคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่จะดำเนินการฟ้องทางแพ่งต่อพรรคการเมืองที่ผลักดันนโยบายกัญชาเสรี ให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ก็เป็นแนวทางที่สมเหตุสมผล เพราะการปลดกัญชาเสรีด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุขก่อนที่จะมีกฎหมายกัญชารองรับเป็นการกระทาที่ฝ่าฝืนมติคณะกรรมการ ป.ป.ส. เนื่องจากมติคณะกรรมการ ป.ป.ส. ในวันที่ 25 มกราคม 2565 ที่เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาเสรีนี้ ได้กาหนดไว้ชัดเจนว่าให้รอกฎหมายกัญชาออกมาบังคับใช้ก่อนปลดกัญชาเสรี 4. ขณะนี้มีการกล่าวอ้างประโยชน์ในทางการแพทย์ของกัญชาโดยบุคคลที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก ทำให้สังคมสับสน อย่างมาก และส่วนหนึ่งก็เป็นเหตุผลรองรับการปลดกัญชาเสรีของกระทรวงสาธารณสุข ทางออกหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์มาก คือ ให้แพทยสภา สภาการแพทย์แผนไทย และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานร่วมชุดหนึ่ง ประกอบด้วยบุคคลที่มีความแม่นยำและจริยธรรมทางวิชาการ และไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมือง ทำหน้าที่ดังนี้ 1)ทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์และวิธีใช้กัญชาในทางการแพทย์ที่ถูกต้อง จากหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิชาการ และทำข้อสรุปร่วมกัน 2) ออกแบบพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ผู้ป่วยที่อยู่ในขอบเขตของการได้ประโยชน์จากกัญชา สามารถเข้าถึงได้ดียิ่งขึ้น 3) จัดทำแผนการวิจัยเพื่อพิสูจน์ประสิทธิผลของกัญชาในการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ทั้งในมิติตัวผลิตภัณฑ์กัญชาและวิธีใช้ และโรคหรืออาการที่จะใช้รักษา แล้วเสนอต่อรัฐบาลเพื่อดำเนินการสนับสนุนการวิจัยต่อไป ทั้งนี้ การดาเนินนโยบายกัญชาทางการแพทย์ควรกระทำบนหลักการสำคัญหนึ่งคือ "ทำเท่าที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับ" การอ้างถึงความสำเร็จอย่างกว้างขวางของการใช้กัญชาโดยไม่ได้พิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะผู้ที่อ้างว่าผู้ป่วยของตนใช้กัญชาแล้วได้ผลนั้น เป็นเพราะว่าผู้ป่วยที่ใช้กัญชาแล้วไม่ได้ผลหรือใช้แล้วเกิดผลข้างเคียงด้านลบจะไม่กลับมาหาอีก ข้อมูลของผู้รักษาเช่นนี้จึงไม่สะท้อนสภาพความเป็นจริงทั้งหมด ทางเครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชน ต้านภัยยาเสพติด จึงขอสนับสนุนการดำเนินการตาม MOU ข้อที่ 16 การกระทำเช่นนี้จะทำให้เด็ก เยาวชน และสังคมไทยได้รับความคุ้มครองจากกัญชาเสรีทันที
Facebook :
https://www.facebook.com/innnews.co.th Twitter :
https://twitter.com/innnews Youtube :
https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN TikTok :
https://www.tiktok.com/@inn_news LINE Official Account :
@innnews
2023-05-25T11:53:55Z dg43tfdfdgfd